ไลน์ทีวี ทำอย่างไรให้บูมภายใน 3 ปี

14 มิถุนายน 2562 การตลาดออนไลน์

#ไลน์ทีวี LINE TV ทำอย่างไรให้บูมภายใน 3 ปี


นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2558 หรือราว 3 ปีที่ผ่านมา ขวบปี 2560 ที่เพิ่งม้วนม่านปิดไปไม่นานมานี้น่าจะเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่เห็นได้ชัดที่สุดของ LINE TV

ย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ของการให้บริการ ภาพลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของ LINE TV คือการเป็นฟรีเซอร์วิส (Free Service) โดยดึงคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ฝั่งเกาหลีอย่าง SurpLINEs ที่มีคอนเทนต์อย่างรายการ Exo’s Special Camping และซีรีส์ One Sunny Day มาฉาย พร้อมเปิดให้รับชมแบบฟรีๆ (ภายใต้เงื่อนไขที่คุณต้องมีแอปพลิเคชัน LINE Messenger เสียก่อน) รวมถึงการรีรันซีรีส์สยองขวัญเรื่อง เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน ผลงานจาก GTH (ปัจจุบันคือ GDH 559) และการออกอากาศซีรีส์แบบเอ็กซ์คลูซีฟเรื่อง Stay ซากะ..ฉันจะคิดถึงเธอ

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ LINE TV เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือการที่พวกเขาสามารถดึงผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กอย่าง ‘นาดาว บางกอก’ มาร่วมสร้างซีรีส์ I Hate You, I Love You หรือในชื่อไทยที่ใครหลายคนเรียกจนติดปากว่า ‘ใครฆ่านานะ’ มาออกอากาศแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะแพลตฟอร์มของตัวเองในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560

ด้วยกระแสฮิตต่างๆ ของตัวนักแสดง สไตล์การเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ปมปริศนาชวนติดตาม รวมไปถึงมีมท่าหยุดรอลิฟต์ของ ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล ที่กลายเป็นกระแสสุดๆ บนโลกออนไลน์ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ส่งให้ I Hate You, I Love You กลายเป็นซีรีส์และคอนเทนต์ลำดับต้นๆ ของ LINE TV ที่สามารถทำสถิติมียอดผู้ชมแบบเรียลไทม์มากกว่าหลักล้านคนในช่วงเวลาที่ออกอากาศ!

 

ที่สำคัญ ซีรีส์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานเรื่องแรกของ LINE TV และคอนเทนต์แรกจาก OTT Platform ในเอเชียที่เพิ่งจะได้รับรางวัล Highly Commended เมื่อสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา หลังเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมและบทซีรีส์ยอดเยี่ยมจากเวที ATA หรือ Asian Television Awards ครั้งที่ 22

จากความสำเร็จของ I Hate You, I Love You รวมกับฐานคนดูที่สั่งสมมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นใบเบิกทางให้ผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าอื่นๆ เริ่มเห็นศักยภาพของพวกเขามากขึ้น และเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับ LINE TV เพื่อผลิตออริจินัลคอนเทนต์และรีรันคอนเทนต์ตามลำดับ

ปี 2560 ที่ผ่านมา การมีพาร์ตเนอร์คนสำคัญอย่างช่อง ONE 31 ก็เป็นหนึ่งในสารกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้แพลตฟอร์มของ LINE TV เริ่มกระจายความนิยมในวงกว้าง จากการได้รีรันคอนเทนต์อย่าง เป็นต่อ (580 ล้านวิว), ล่า (185 ล้านวิว) และ ชายไม่จริง หญิงแท้ (140 ล้านวิว) และฉายคอนเทนต์ออริจินัล เป็นต่อ Uncensored Pool Party พี่ไม่ลืม ที่ผลิตร่วมกัน

ความสำเร็จที่กล่าวมาเบื้องต้นล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยดันให้บริการ LINE TV บูมและอยู่ในทิศทางของการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง อริยะ พนมยงค์ เผยว่าพวกเขาเพิ่งจะมีรายได้และมีอัตราการเติบโตจากยอดรายได้โฆษณากว่า 100% เป็นครั้งแรก

กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ กรรมการบริหารสายงานธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงการเติบโตของ LINE TV ว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้ถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญมากๆ ของบริษัท ทั้งยังเคยกล่าวอยู่บ่อยๆ ว่า LINE TV คือหนึ่งในบริการ ‘พระเอก’ ของ LINE

กวินบอกว่า “เราน่าจะเป็นผู้ให้บริการออนไลน์วิดีโอเจ้าเดียวที่คัดสรรคอนเทนต์ขึ้นมาโดยเน้นด้าน Advertising Base Video on Demand เป็นหลัก (หารายได้จากการลงโฆษณา) ซึ่งเจ้าอื่นๆ ในตลาดนี้ก็ยังไม่มีใครที่ทำแบบเรา เจ้าอื่นๆ ที่เป็น Curated Platform เหมือนกันเขาก็จะเน้นรูปแบบของการเป็น Subscribtion Base (คิดค่าบริการจากการสมัครใช้บริการวิดีโอสตรีมมิง)

“ในขณะเดียวกัน เราไม่ปิดกั้นโอกาสที่ LINE TV จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็น Subscribtion Base แต่ตอนนี้เรายังเห็นภาพตัวเองเป็นแพลตฟอร์มผู้นำการให้บริการแบบฟรีในประเทศไทยอยู่ เพราะการจะไปเก็บเงินผู้ใช้บริการ 20 กว่าล้านคนในไทยอาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกำลังในการซื้ออาจจะไม่ได้เยอะ ความต้องการของเราคือการเผยแพร่คอนเทนต์ให้กว้างที่สุดโดยใช้โมเดลหาเงินจากค่าโฆษณาเป็นหลัก เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้เข้ามาชมเยอะขึ้น”

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของการที่ LINE TV จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทเป็นสตูดิโอผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองคล้ายๆ กับกรณีที่ Netflix ทำกับออริจินัลคอนเทนต์ซีรีส์และภาพยนตร์ กวินมองว่าแนวทางของ LINE TV อาจจะยังไม่ได้ดำเนินไปทางนั้น

“ในวิสัยทัศน์ของเรา ตอนนี้ก็คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องไปผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองขึ้นมา เพราะเราเองก็มีพาร์ตเนอร์ดีๆ ที่แข็งแรงหลายเจ้า ซึ่งมีศักยภาพที่จะมาร่วมมือกับเราในการจับตลาดนี้ อย่างออริจินัลคอนเทนต์ในปีนี้ เราก็เล็งจะเพิ่มเงินลงทุนในการผลิตไปด้วย”

ที่มา : https://thestandard.co/big-step-of-line-tv/ 
 

เข้าชมไลน์ทีวีได้ที่นี่

แนะนำบทความ
  • ขายของออนไลน์
    ยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย อินเทอร์เน็ตทำให้สามารถซื้อของออนไลน์ได้ การใช้งานโซเชียล แอพพลิเคชั่นและช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย อนุญาตให้ขายของออนไลน์ ช่องทางโซเชียลที่สะดวกที่สุด เพราะมันคุ้นเคยและง่ายต่อการเริ่มต้น
  • ขายอะไรดี
    ​การขายออนไลน์เป็นได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม เริ่มต้นด้วยเงินทุนเพียงเล็กน้อยและรับผลกำไรที่ดีเพื่อสร้างธุรกิจของคุณต่อไป ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ง่ายต่อการค้นหาสินค้า หาได้ทุกที่ ทุกเวลา ถ้าไม่รู้จะขายอะไร วันนี้เรามี 30 ไอเท็มเด็ดมาแนะนำ
  • ขายของออนไลน์
    ในปัจจุบันนี้ หลายคนสนใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์? ขายของออนไลน์ เพราะดูเหมือนของจะสามารถทำได้ง่ายๆ นอกจากนี้ คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก แต่จริงๆ แล้วการเปิดร้านค้าออนไลน์หรือการทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จนั้นก็คือ จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพราะฉันไม่ต้องการอย่างนั้น ฉันอาจจะแพ้ จนต้องลาออก